ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร

ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ

ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร

image

ประวัติพันธุ์

เมืองปะทิว หรือ ปากทิว สมัยก่อนเป็นทางผ่านไปทํามาหากินของชนพื้นเมืองจากฟากตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่สูงแนวภูเขาไปทางตะวันออกสู่ทะเล ปัจจุบันเป็นอําเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นเมืองที่มีการทํานาเพื่อปลูกข้าวเป็นอาหารมานานแล้ว ในพื้นที่มีการปลูกข้าวพื้นเมืองเหลืองปะทิว ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ได้ชื่อเป็น พันธุ์เหลืองประทิว 123 มีลักษณะพิเศษ เมล็ดเรียวยาว ให้ผลผลิตสูง หุงขึ้นหม้อสุกร่วน เป็นตัว รสชาติดี

 

ลักษณะประจำพันธุ์

ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร ( Khao Leuang Patew Chumphon ) หมายถึง ข้าวเจ้าพันธุ์เหลืองประทิว 123 เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองพันธุ์หนัก ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปีตามระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร เป็นข้าวพื้นแข็ง เมื่อหุงสุกจะร่วนเป็นตัว ไม่เกาะกันเป็นก้อน และหุงขึ้นหม้อ เมื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นจะได้เส้นที่เหนียวไม่ยุ่ยหรือขาดง่าย

 

ความสัมพันธ์กับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิศาสตร์ จังหวัดชุมพรมีที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนบนบริเวณคอคอดกระลักษณะพื้นที่เป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบ ทางตะวันตกเป็นพื้นที่สูงของเทือกเขาตะนาวศรีและเทือกเขาภูเก็ต เป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำหลังสวน ทางตะวันออกเป็นพื้นที่ราบมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ ที่เหมาะสมกับข้าวพันธ์เหลืองประทิว 123 ซึ่งปลูกได้ดีในพื้นที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ที่มีดินเค็มน้ำกร่อย หรือพื้นที่ใกล้ทะเล ลักษณะภูมิอากาศ ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี

 

คุณค่าทางโภชนาการ

ข้าวเหลืองปะทิว เป็นข้าวเจ้าที่มีเปอร์เซ็นต์อมิโลสสูง ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวหุงสุกแข็ง-ร่วน ข้าวกล้องของข้าวเหลืองปะทิวมีสารอาหารไนอะซีนหรือวิตามินบี3ปริมาณ 9.32% ซึ่งสูงกว่าข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์อื่นๆ ช่วยในการหมุนเวียนของเลือดและลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด

 

ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 30 ธันวาคม 2551

ด้านบน