ประวัติพันธุ์
จากความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จึงทรงพระกรุณาฯ ให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้สถานีทดลองข้าวปัตตานี เก็บรวบรวมสายพันธุ์ ข้าวพื้นเมือง ต่าง ๆ ของภาคใต้พบว่า มีสายพันธุ์ข้าวมากกว่า 307 สายพันธุ์ โดยมาจาก 107 อําเภอและ 14 จังหวัด และได้มีการทดลองปลูกคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ โดยมีรหัสประจําสายพันธุ์ข้าวนี้ ว่า PTNG 84210 เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมจากตําบลชะรัด อําเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง แล้วให้ชื่อสายพันธุ์นี้ว่า “ข้าวเล็บนก-ปัตตานี” โดยสรุปแล้วรวมพื้นที่ปลูกข้าวเล็บนกในภาคใต้ มีประมาณ 388,031 ไร่ เท่ากับร้อยละ 13 ในพื้นที่ ปลูกข้าวภาคใต้ทั้งหมดที่มีอยู่จํานวนกว่า 2.9 กว่าล้านไร่ “ข้าวพันธุ์เล็บนก” มีผลผลิตเฉลี่ย 476 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนราคาที่โรงสีท้องถิ่นรับซื้อกันราคาอยู่ที่ระหว่าง 9,500-10,000 บาท โดยกลุ่มโรงสีรับไม่จํากัดจํานวน และจะรับซื้อสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ หลังจากนํามาสีเป็นข้าวสารขายในพื้นที่แล้ว บางส่วนจะนําไปขายให้กับตลาดต่างจังหวัดด้วย เพราะเป็นข้าวที่มีคุณภาพเมื่อหุงเป็นข้าวสุกจะอ่อน นุ่มนวล เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดมีความต้องการมาก
ลักษณะประจำพันธุ์
เป็นข้าวเจ้า สูงประมาณ 170 เซนติเมตร ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณกุมภาพันธ์ ใบธงแผ่เป็นแนวนอน คอรวงยาว รวงยาวแน่น ระแง้ถี่ เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางก้นจุด ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 3 สัปดาห์ เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 8.4 x 2.4 x 1.8 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 6.0 x 2.1 X 1.7 มิลลิเมตร ท้องไข่ปานกลาง ปริมาณอมิโลส 26 % คุณภาพข้าวสุก ร่วน นุ่ม
คุณค่าทางโภชนาการ
ป้องกันโรคเหน็บชา บํารุงสมอง ท้องผูก ช่วยระบบขับถ่าย ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันมะเร็งในลําไส้ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่สมอง และร่างกายมากกว่าข้าวกล้องธรรมดาถึง 15 เท่า มีไฟเบอร์ใยอาหารวิตามินหลากหลาย ธาตุเหล็กสูง แคลเซียมสูง มีสารกาบา ช่วยรักษาสมดุลในสมองและร่างกาย มีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต และมีแป้งในปริมาณที่สูงมาก นอกจากนั้นยังมีสารอาหารอื่นๆ เช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ