ประวัติพันธุ์
เมื่อปีพ.ศ. 2529 ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ได้รับรวงข้าวแดงหอมจำนวนหนึ่งจากสถานีทดลองข้าวสุรินทร์จึงทำการปลูกคัดเลือกและแยกสายพันธุ์ชนิด ข้าวเหนียวและข้าวเจ้าออกจากกัน จากนั้นปี พ.ศ. 2531 นายสมเดช อิ่มมาก นักวิชาการเกษตรของศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ได้นำข้าวแดงหอมสายพันธุ์ KDML105R-PRE-5 เป็นพันธุ์แม่ผสมกับ IR64 และผสมย้อนกลับ (Back Cross) ไปหาพันธุ์แม่ 3 ครั้ง จนในปีพ.ศ. 2533 ได้ให้รหัสเป็นคู่ผสมของศูนย์วิจัยข้าวแพร่เป็น PRE90020 และพ.ศ. 2534 – 2537 ได้นำสายพันธุ์ข้าวที่ได้ไปปลูกคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก จนรับได้สายพันธุ์ดีเด่นจำนวน 10 สายพันธุ์ จนพบว่า สายพันธุ์ PRE90020-R36-PSL-8-3-14-3 เป็นสายพันธุ์ที่เป็นข้าวต้นเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสง และมีลักษณะต่างๆตามที่ต้องการ ต่อมาพ.ศ. 2542 สถาบันวิจัยข้าวเสนอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเป็น พันธุ์ข้าวทั่วไปโดยใช้ชื่อว่า ข้าวหอมกุหลาบแดง
ลักษณะประจำพันธุ์
เป็นข้าวเจ้าสูงประมาณ 90 – 100 เซนติเมตร ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 123 วันลำต้นแข็ง กอตั้งตรง แตกกอดี รวงแน่นปานกลาง ใบมีสีเขียว แก่ช้า ใบธงตั้งตรง เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 5 สัปดาห์ ท้องไข่น้อย ปริมาณมิโลส 13.9 % เป็นข้าวที่ให้ข้าวกล้องมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม ข้าวสุกนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวดอกมะลิ 105
คุณค่าทางโภชนาการ
เป็นข้าวเจ้าจากการผสมสายพันธุ์ที่ดี ของศูนย์วิจัยข้าวแพร่ อุดมไปด้วยวิตามินนานาชนิด อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีน เส้นใยอาหาร แคลเซียม สังกะสี เหล็ก วิตามิน B1, B2, B6 และวิตามิน E