ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี

ลักษณะเด่น
เป็นข้าวกล้อง มีสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลคล้ำ (เหลืองทอง) เมล็ดผอม เรียว แกร่ง ใส ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี หมายถึง ข้าวกล้องที่ได้จากการแปรรูปข้าวเปลือกเหนียวพันธุ์ กข6 หรือข้าวเปลือกพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ในระยะเป็นน้ำนมยังไม่แก่จัด ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอวาริชภูมิ พังโคน และอำเภอากาศอำนวยจังหวัดสกลนคร โดยนำมาผ่านกรรมวิธีเฉพาะตามหลักประเพณีการทำข้าวฮางที่สือต่อกันมาในพื้นที่
คุณค่าทางโภชนาการ
- จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ด เป็นส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารมาก มีโปรตีน วิตามินและเกลือแร่สูง
- มีสารกาบาช่วยรักษาสมดุลของสมอง ลดความวิตกกังวัล หลับสบาย ป้องกันโรคความจำเสื่อม
- ชะลอความชรา ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้
- มีแกมมาออริซานอล วิตามินอี สารฟีโนลิค ไลซีน และมีโปรตีนช่วยในการย่อยเปปไทด์
- มีไฟเบอร์สูงกว่าข้าวขาวถึง 15 – 20 เท่า ช่วยให้อิ่มท้องไม่หิวง่าย จึงมีส่วนช่วยให้ลดความอ้วน ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ขับถ่ายสะดวก และช่วยดูดซับสารพิษออกจากร่างกาย
กระบวนการผลิต
- พื้นที่ผลิตอยู่ใน 3 อำเภอ คือ อำเภอวาริชภูมิ พังโคน และอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
- การแปรรูป ข้าวเปลือกแปรสภาพเป็นข้าวกล้อง ตามกระบวนการดังนี้
- นำข้าวเปลือกที่ยังไม่แก่จัดมาพักบ่มไว้ 2 คืน (ใส่ถุงและปิดปากถุง เพื่อให้ข้าวเปลือกข้าวอ่อนลง)
- นำข้าวเปลือกที่พักไว้ไปแช่น้ำ 12 ชั่วโมงและคัดแยกเมล็ดลีบออก
- นำไปนึ่ง ประมาณ 40 นาที
- ใช้น้ำราดข้าวนึ่งให้เปียกทุกเมล็ดอย่างทั่วถึง พักไว้ 20 นาที ราดน้ำเย็นอีกครั้ง
- ผึ่งลมหรือตากแดดให้ข้าวเปลือกที่นึ่งแล้วแห้ง
- สีโดยไม่ขัดเมล็ดข้าว แล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท
- การบรรจุหีบห่อ รายละเอียดบนฉลากระบุชื่อ “ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี” ให้ระบุน้ำหนักและวันที่บรรจุ
ความสัมพันธุ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์
จังหวัดสกลนคร ในอดีตเรียกเมืองหนองหารหลวง ต่อมาเปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า สกลทวาปี และเปลี่ยนนามเมืองอีกครั้งเป็นสกลนคร ประชากรในพื้นที่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองเก่าทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง โดยเฉพาะชนเผ่าภูไท ในอดีต 200 ปีที่แล้ว ท้าวผาอินจะอพยพมาอยู่บ้านนาบ่อ (เป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภวาริชภูมิ) ท่านมีลูกหลายคน ข้าวไม่พอกินและยังไม่ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เลยเก็บข้าวที่ใกล้จะสุกมาผ่านกรรมวิธีแบบพื้นบ้าน เตาที่ใช้นึ่งจะขุดดินทำเป็นร่องหรือร่าง (ฮาง) เพื่อเป็นที่ใส่ฟืน ภาษาอีสานเรียกว่า เตาฮาง
ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549