กรมการข้าวได้พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ชื่อ พันธุ์ กข.43 ซึ่งมาจากพันธุ์ข้าวหอมสุพรรณบุรีมาผสมกับข้าวสุพรรณบุรี 1 มีลักษณะเด่นคือ เป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index) หมายความว่า ร่างกายจะเปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยให้เราไม่หิวง่าย (และทานอีก) นั่นเอง ผมเลยขอเรียกข้าว กข. 43 ว่า ข้าวอ่อนหวาน
ผมเลยนำข้าวอ่อนหวาน มาให้น้องๆ รุ่นใหม่ชิมกัน (28 คน) โดยลองเทียบกับข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี แล้วให้คะแนนเปรียบเทียบกัน โดยเป็นการทดสอบแบบ blind test (คือไม่ทราบว่าตัวอย่างใดเป็นข้าวชนิดใด)
ผลการทดสอบพบว่า ข้าวอ่อนหวาน (ข้าว กข.43) มีคุณภาพทางประสาทสัมผัสในภาพรวมในระดับเดียวกับข้าวหอมปทุมธานี แต่ยังน้อยกว่าข้าวหอมมะลิเล็กน้อย
เมื่อย่อยลงไปในแต่ละด้าน พบว่า ผู้ชิมเห็นว่า ข้าว กข. 43 มีรูปลักษณ์และสีที่น่าพึงพอใจกว่าข้าวหอมปทุมธานี แต่ในแง่กลิ่นและความนุ่ม ข้าวอ่อนหวานของเรา (ข้าวกข.43) ยังเป็นรองข้าวหอมปทุมธานีและข้าวหอมมะลิ
ต่อมา เมื่อเราเฉลยว่า แต่ละตัวอย่างคือข้าวชนิดใด? แล้วบอกข้อมูลค่าดัชนีน้ำตาลของข้าวอ่อนหวาน แล้วจึงสอบถามพบว่า น้องๆ ร้อยละ 78 บอกว่าข้อมูลนี้มีผลต่อการตัดสินใจของน้องๆ ผู้บริโภค
เมื่อถามถึงความยินดีจ่ายพบว่า แม้ว่าระดับความชอบจากการชิมของข้าวอ่อนหวานจะอยู่ในระดับเดียวกับข้าวหอมปทุมธานี (และน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ) แต่ปรากฎว่า ความยินดีจะจ่ายของข้าวอ่อนหวานนั้นอยู่ในระดับเดียวกับข้าวหอมมะลิ
แปลว่า ดัชนีน้ำตาลต่ำ มีผลในการยกระดับมูลค่าเพิ่มของข้าว อย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่สูงนัก (ประมาณ 5-6 บาท/กก.) ซึ่งแปลว่า คุณภาพทางประสาทสัมผัส (หรือความอร่อย) ก็มีส่วนสำคัญในการยกระดับมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นได้อีก
เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น อาจพอบอกได้ว่า ข้าวอ่อนหวานหรือข้าวน้ำตาลต่ำ เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่พอสมควร และมีความอร่อยอยู่ในระดับที่รับได้ครับ หากเจาะกลุ่มเป้าหมายดีๆ เช่น สำหรับกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก และ/หรือ ผู้ควบคุมน้ำตาล ข้าวอ่อนหวานนี้น่าจะมีอนาคต
เดชรัต สุขกำเนิด
1 ธันวาคม 2560
ที่มา การทดสอบทางประสาทสัมผัสเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวนตัวอย่าง 28 ราย