หากเราเดินดูในท้องตลาด ในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือในอินเตอร์เน็ต เราจะพบข้าวถุงที่มีราคาแตกต่างกันตั้งแต่ประมาณ 30 บาท/กก. ไปจนถึง ร้อยกว่าบาทต่อกก. ก็มี ราคาที่แตกต่างกันนี้ เกิดมาจากปัจจัยใดบ้าง? นิสิตจึงลองไปเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์ข้าวในตลาดมา 189 ตัวอย่าง
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อมาวิเคราะห์สมการถดถอยตามแบบจำลอง hedonic price model เพื่อแยกแยะปัจจัยที่มีผลต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับปัจจัยที่ไม่มีผลต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ ผลปรากฎมาดังนี้ ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือ พันธุ์ โดยหากเทียบจากราคาพื้นฐานขั้นต่ำที่ 30 บาท/กก. หากผลิตภัณฑ์เป็นข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวหอมมะลินิล จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีก ตั้งแต่ 30 บาท/กก. จนถึง 50 บาท/กก. แปลว่า ถ้าเป็นข้าวหอมมะลินิลตอนนี้ ราคาโดยพื้นฐานที่ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ จะอยู่ที่ประมาณ 80 บาท/กก. (หมายเหตุ ตัวเลขราคาของข้าวไรซ์เบอรี่และข้าวหอมมะลินิลนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับราคาที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายในการทดสอบทางประสาทสัมผัส ซึ่งผมได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้ คือมีราคา 70 บาท/กก. และ 75 บาท/กก. ตามลำดับ)
ปัจจัยที่ผลรองลงมาคือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยหากมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่มีการรับรองระดับสากลเช่น IFOAM ราคาจะเพิ่มขึ้นอีก 15 บาท/กก. และมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% (ตรา มือพนม) จะมีราคาเพิ่มขึ้น 8.8 บาท/กก.
ส่วนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยยังไม่มีผลต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับมาตรฐาน GMP ก็ยังไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ อาจต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในจุดนี้ เช่นเดียวกับการแสดงมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ก็ยังไม่มีผลต่อราคาข้าวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งๆ ที่ การระบุแหล่งผลิตที่เป็นที่รู้จัก (เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ เชียงราย พัทลุง) มีผลให้ราคาเพิ่มขึ้น 7 บาท/กก. แปลว่า ผู้บริโภคก็น่าจะให้ความสำคัญกับแหล่งผลิต เพียงแต่ยังไม่รู้จักหรือไม่เห็นความจำเป็นของมาตรฐาน GI ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในการสื่อสารเรื่องราวของ GI ต่อไป (รวมถึงอาจต้องคิดค้นคำและสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ด้วย)
ในแง่บรรจุภัณฑ์ก็มีผลสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่า (หรือราคาต่อหน่วย) ของผลิตภัณฑ์ โดยการบรรจุแบบ 1 กก. จะมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 11 บาท/กก. และการบรรจุกล่องกระดาษ (เพื่อใส่คลุมถุงสุญญากาศอีกชั้นหนึ่งจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 19.5 บาท/กก. เลยทีเดียว (แต่จะได้รับการตอบรับกว้างขวางเพียงใด การศึกษานี้ไปไม่ถึงนะครับ)
กล่าวโดยสรุป ข้าวในตลาดเฉพาะที่มีมูลค่าเพิ่มหรือราคาสูงนั้น ยังขายได้นะครับ แม้ว่าตลาดจะไม่ใหญ่มาก แต่ขายได้ในราคาที่ดีทีเดียว จุดสำคัญสำหรับการพัฒนาข้าวในตลาดเฉพาะคือ
ก) พันธุ์ ที่มีคุณภาพ เป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาด
ข) มาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับ
ค) บรรจุภัณฑ์ที่สะดวกและดึงดูดใจ
ง) แหล่งผลิตที่มีชื่อเสียง และ/หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ
เพราะฉะนั้น นโยบายการส่งเสริมข้าวในตลาดเฉพาะจึงควรเน้นเรื่อง
ก) การพัฒนาและการคัดเลือกสายพันธุ์
ข) การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้สะดวก รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ
ค) การตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการของข้าวสายพันธุ์และแหล่งผลิตต่างๆ
ง) การประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของข้าวสายพันธุ์ต่างๆ
จ) การแลกเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ข้าวรูปแบบใหม่ๆ
เดชรัต สุขกำเนิด
26 พฤศจิกายน 2560
ที่มาข้อมูล การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าต่อกิโลกรัมของข้าวตลาดเฉพาะ จำนวนรายการสินค้าข้าวตลาดเฉพาะ 189 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ค่า F-test = 29.064 R2 = 84.6%